19 ปี สสส. สานพลังสร้างสุขภาวะสังคมไทย ท่ามกลางวิกฤต (โควิด-19) ที่เป็นโอกาส ปลุก “ชีวิตวิถีใหม่”
เมื่อโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การแพทย์ และการใช้ชีวิต ทุกคน ทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งขับเคลื่อนสังคมด้วยการทำหน้าที่ริเริ่มจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมการสร้างเสริมสุขภาพ สานพลังความร่วมมือทุกภาคส่วน ด้วยพลังความรู้ นโยบาย และสังคม สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพดีที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการสร้างค่านิยมพฤติกรรมสุขภาพให้คนไทย ต้องปรับกระบวนท่า รูปแบบ การทำงานรับมือสถานการณ์ให้ทันท่วงที
Exclusive Interview by สสส. ถือจังหวะครบรอบ 19 ปี สสส. พูดคุยกับ “ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในบทบาทของผู้นำองค์กรนวัตกรรมสานพลังสร้างเสริมสุขภาพ มองว่านี่คือ “โอกาส” ในวิกฤต ที่ทำให้ สสส. ได้ขับเคลื่อนงานที่ทำมาตลอด 19 ปี ให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องปรับตัว เป็นสิ่งที่สสส. ทำมาตลอดอยู่แล้ว!
ในวิกฤติ คือ โอกาส
ดร.สุปรีดา มองว่า “ปี 2563 ถือเป็นปีพิเศษ ความผันผวนและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กลับไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมา สสส. ทำงานและปรับตัวท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนไหวสูง แต่แน่นอนว่าโควิด-19 ไม่อยู่ในแผนที่วางไว้ โดยรวมจึงต้องปรับแผนการทำงานอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็น สสส. หรือภาคีเครือข่าย เนื่องจากสังคมขณะนั้น ให้ความสนใจเรื่องโควิด-19 งานด้านสร้างเสริมสุขภาพจึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะด้านการป้องกัน ควบคุม ให้ความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยง กระทั่งการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยใช้ศักยภาพที่มีเป็นตัวกลางของรัฐ ในการสื่อสารกับประชาชน”
เมื่อวิกฤตกลายเป็นโอกาสในการสร้างเสริมสุขภาพ ดร.สุปรีดา ขยายภาพให้เห็นว่า เราใช้โอกาสใหม่ทำงานให้ดีขึ้นหนักขึ้น ความกลัวของโรคระบาดมี 2 มิติ คือ กลัวตัวเอง หรือ คนที่รักจะเป็น และ กลัวตัวเองเป็นผู้แพร่ ทำให้คนใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมสุขภาพของคนไทยดีขึ้น เกิดการปรับตัว เราใช้การสื่อสารเรื่องเดิมในโอกาสใหม่ ขับเคลื่อน 15 แผนงาน โดยเน้นการสร้างความรอบรู้เรื่องสุขภาพ เราหวังว่า องค์กรจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม อยากให้ประชาชนเข้ามาทำความรู้จัก สสส. มากขึ้น เพื่อมามีส่วนร่วม และใช้ประโยชน์ร่วมกัน
“นวัตกรรม” สสส. เปลี่ยนแปลงสังคม
หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน เหตุผลที่ต้องมี สสส. คือ ภาวะของโลกเปลี่ยนไป ทั้งปัจจัยสังคม สิ่งแวดล้อม จึงต้องใช้หลายภาคส่วนทำงานร่วมกัน และต้องการวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเก่า ที่องค์กรดั้งเดิมเอาไม่อยู่ งานนวัตกรรมของ สสส. จึงเกิดขึ้น ด้วยเป้าหมาย คือ การมองจุดตีบตัน และช่องว่างระหว่างสิ่งที่ควรจะเป็น กับสิ่งที่เป็นอยู่ และเข้าไปผลักวงจรให้เกิด ทั้งหมดต้องการมุมมองของนวัตกรรม เป็นวิธีใหม่ที่แก้ปัญหาเดิม แม้กระทั่งการสื่อสาร ที่ต้องแก้ด้วยการเห็นร่วมกับสังคม เช่น ออกกติกาสังคมใหม่
แต่การทำงานกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำให้ทุกคนเข้าใจเป้าหมายของ สสส. และหันมาดูแลสุขภาพเป็นความท้าทายตลอด 19 ปี ที่ผ่านมา ดร.สุปรีดา อธิบายว่า งานของ สสส. เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม วิถีชีวิต สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงมิติด้านสุขภาพทางกายอย่างเดียว แต่เกี่ยวเนื่องกับมิติด้านจิตใจ อารมณ์ สังคมด้วย ดังนั้น การบอก การสั่ง ไม่ค่อยได้ผล ฉะนั้น งาน สสส. โดยรวมไม่ใช่การให้ความรู้ หรือ สื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างค่านิยมเปลี่ยนแปลงทัศนคติแนวคิด รวมถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคม จนเกิดเป็นนโยบาย ผลักดันกฎหมายใหม่ๆ ที่เอื้อให้เกิดสังคมสุขภาวะ
“จริงจัง และ จริงใจ กับโอกาสทำสิ่งที่ดีในชีวิต”
หลังจากฟังเรื่องราวต่างๆ การทำงานที่หนักหน่วงของสสส. ตลอดในรอบปีที่ผ่านมา อีกมุมหนึ่งของ ดร.สุปรีดา ถือเป็นคนทำงานรุ่นบุกเบิกของสสส. เกือบ 2 ทศวรรษเช่นกัน โดยเริ่มจากเป็นผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก (ดูแลด้านควบคุมบุหรี่ สุรา และอุบัติภัยฯ) ตั้งแต่ปี 2546 ขึ้นเป็นรองผู้จัดการ สสส. ก่อนจะได้รับการเลือกให้เป็นผู้จัดการกองทุนสสส.จนถึงปัจจุบัน
เบื้องหลังภาพของ ซีอีโอ นักบริหาร หรือนักวิชาการท่านนี้ พูดถึงหลักคิดในการทำงานว่า จริงๆ ไม่มีคำขวัญหรือคำคมอะไร แต่เมื่อมีคนถามถึง คำว่า “จริงจัง และ จริงใจ กับโอกาส ทำสิ่งที่ดีในชีวิต” ก็แว่บขึ้นมา
ดร.สุปรีดา อธิบายว่า เป็นคำที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว เรามีมิติที่อยากจะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม มากกว่ามิติของความอยากร่ำรวย ตั้งแต่ทำงานวันแรกหลังจากเรียนจบ ก็เดินมาทางนี้มาตลอด เป็นวิถีของการทำงานด้านสาธารณะ “ทำ” โดยที่มองว่า สิ่งที่ “ทำ” เป็นโอกาส เติบโตมาโดยไม่ปฏิเสธงานหนัก หรืองานที่ถูกหยิบยื่นให้ กลายเป็นวิถี และเราก็ชอบที่เราได้เรียนรู้และเติบโตจากการทำอะไรใหม่ๆ หนักๆ และท้าทายมาตลอด
“ผมลงมือทำอย่าง “จริงจัง” เพราะเสียดายพลังงานหากทำอะไรเหลาะแหละ หรือสักแต่ว่า “ทำ” แต่ไม่เกิดผล มุ่งความสำเร็จกับสิ่งที่จะทำมากกว่าทำไปวันๆ ส่วน “จริงใจ” เพราะงานทั้งหมดที่ทำต้องทำงานร่วมกับคนอื่น การทำงานมีเรื่องความเห็นที่แตกต่าง ความขัดแย้ง แต่ถ้ามีความจริงใจจะช่วยให้ทำงานกับคนอื่นได้ เพราะเราทำงานด้านสาธารณะ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องทำงานร่วมกับคนอื่น
เคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า และใช้โอกาสให้ดีที่สุด
เมื่อถามถึงเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ดร.สุปรีดา กล่าวว่า “นักเขียนคนหนึ่งกล่าวไว้ ชีวิตเหมือนการวิ่งมาราธอนที่ไม่มีเส้นชัย แต่แน่นอนว่าเราต้องเคลื่อนไปข้างหน้า มีหลักไมล์ที่เพิ่มขึ้น ไม่มีปลายทางที่จบ แต่ต้องพยามทำให้ดีที่สุดในแต่ละการเคลื่อนตัวของช่วงชีวิต เป้าหมายมีการยืดหยุ่นได้หากโอกาสในชีวิตเอื้อว่าจะทำอะไรดีที่สุด ณ จังหวะนั้น หรือในอนาคตอันใกล้ ก็วางแผนและเดินไป”
สำหรับก้าวต่อไปของสสส.ก็เช่นกัน ยังคงเดินหน้าเรื่องปัจจัยเสี่ยงในระดับภูมิภาคทั้งประเด็น เหล้า บุหรี่ อุบัติเหตุ รวมถึงผลักดัน “กฎหมายอากาศสะอาด” จากปัญหา PM 2.5 นอกจากนี้ ยังเดินหน้าเรื่อง Digitalization หรือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่กระทบต่อเด็ก เยาวชน ไซเบอร์บูลลี่ ข่าวปลอม ข่าวลวง เดินหน้าเรื่อง “ปฐมวัย” ขับเคลื่อนนโยบายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ การนำระบบฐานข้อมูล “บิ๊กดาต้า” (Big Data) มาใช้ในการป้องกันดูแลสุขภาพ เช่น รู้พฤติกรรมการบริโภคไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ ที่มีวิธีการดูแลเฉพาะบุคคลตรงกับความต้องการ และสานต่อเรื่อง “โควิด-19” ทั้งชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และ การเฝ้าระวังระลอก 2
“สสส. ในฐานะองค์กรนวัตกรรมสานพลังสร้างเสริมสุขภาพ เราเชื่อว่า สุขภาพดีสร้างได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเริ่มจากตัวเราเอง ขยายไปยังคนรอบข้าง ชุมชน สังคม โดยมีสสส.เป็นแกนสำคัญในการเชื่อมโยง ทุกคน ทุกองค์กร ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมสุขภาพไปด้วยกัน”