“กฎหมาย” กลไกสร้างสังคมสุขภาวะ
ความพยายามลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ หากหวังแค่กลไกความร่วมมืออาจไม่พอ อีกส่วนสำคัญที่ต้องทำควบคู่คือการใช้ “กฎหมาย” ช่วยสร้างบรรยากาศให้เกิดค่านิยมใหม่ ๆ ภายใต้ กฎ กติการ่วมกันในสังคม
Exclusive Interview By สสส. ชวนเปิดมุมมองจากหนึ่งในนักบริหารองค์กร และมือกฎหมายระดับต้น ๆ ของประเทศ ที่วันนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ สสส. แล้วเรื่องราวของ “กฎหมาย” กับ “สุขภาพ” จะมีส่วนผสมที่ลงตัวแค่ไหน หาคำตอบกับ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหาร สสส.
เมื่อ “กฎหมาย” เติมเต็มงาน “สร้างเสริมสุขภาวะ”
“ผมเข้ามามีส่วนร่วมกับ สสส. ได้ไม่นานนะครับ แต่อยู่ในวงการกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุขมานาน ผมเป็นกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ที่ดูเรื่องกฎหมายทุกอย่างเกี่ยวกับสาธารณสุข และการแพทย์ ดังนั้นคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้น่าจะช่วยเติมเต็มงานให้กับ สสส. มากขึ้นนะครับ”
ศ.ดร.สมคิด ออกตัว พร้อมเข้าเรื่องพูดคุยด้วยการมองว่า “กฎหมาย” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับประชาชน นี่ถือเป็นอีกบทบาทที่ สสส. มีส่วนร่วมผลักดัน จนช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมสังคมในหลายเรื่อง
“กฎหมาย” กับค่านิยมสังคมที่เปลี่ยนไป
“พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560” เป็นหนึ่งในรูปธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ “นวัตกรรม” ทางกฎหมาย เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและค่านิยมใหม่ ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงจากบุหรี่ เช่น ห้ามสูบบุหรี่ในโรงเรียน สถานศึกษา หรือแทบทุกสถานที่, การห้ามขายบุหรี่ให้คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี, ห้ามแบ่งขายบุหรี่, ห้ามโฆษณาบุหรี่ เป็นต้น
“ผมเชื่อว่าวันนี้ตัวเลขชี้ให้เห็นครับว่า สสส. ประสบความสำเร็จ ทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง จนถึงเลิกบุหรี่ไปเลยก็ไม่น้อย ทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องบุหรี่ และการรักษาคนสูบบุหรี่ลดน้อยลงไปด้วย”
มิติทางกฎหมายยังช่วยส่งเสริม และสนับสนุน แนวทางการใช้ชีวิต นี่คืออีกรูปธรรมที่เกิดขึ้นผ่าน “พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550” เมื่อกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้สังคมมองเห็นคุณค่าคนพิการ สิ่งที่เน้นคือการสร้างพื้นที่ ทำให้คนพิการได้มีตัวตนและถูกมองเห็นคุณค่าจากสังคม อย่างการรับคนพิการเข้าทำงาน
“เรื่องนี้สำคัญนะครับ การมีกฎหมายฉบับนี้ อย่างน้อย ๆ ช่วยให้คนพิการมีงานทำราว ๆ 4,000 คนต่อปี มีเงินเข้ากองทุนคนพิการเกือบ 6,000 ล้านบาท หลายองค์กร หน่วยงาน พยายามสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อคนพิการเพิ่มมากขึ้น เมื่อทำให้พวกเขาเข้าถึงโอกาส นั่นหมายถึงสุขภาวะที่ดีจะตามมา”
อนาคต “กฎหมาย” สู่ “นวัตกรรม” ใหม่สร้างสังคมสุขภาวะ
ศ.ดร.สมคิด ยังมองว่า มีอีกหลายเรื่องที่น่าจะช่วย สสส. ผลักดัน โดยเฉพาะการทำให้กฎหมายกลายเป็น “นวัตกรรม” ใหม่ ๆ ที่สอดประสานกับการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นการสร้าง “พลังนโยบาย” ขับเคลื่อนร่วมกันกับ “พลังสังคม” และ “พลังปัญญา” ตามยุทธศาสตร์ “ไตรพลัง” เพื่อให้นำไปสู่ สุขภาวะทางสังคม สุขภาวะทางปัญญา สุขภาวะทางจิต และสุขภาวะทางกาย โดยการขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ ในระยะยาวอาจต้องคิดต่อว่ารูปแบบของกฎหมาย จะมาเป็นความหวังได้อย่างไร
“ในฐานะนักกฎหมาย หากผมจะมีประโยชน์บ้าง จะพยายามคิดค้นกฎหมายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายเรื่องด้านการสร้างเสริมสุขภาวะ ช่วยเสริมในสิ่งที่ สสส. ทำได้ดีอยู่แล้ว คือการสานพลังร่วมกับชุมชน และภาคประชาสังคม ด้วยการขับเคลื่อนกฎหมายใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรม เพื่อจุดมุ่งหวังการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี ไปสู่สังคมสุขภาวะอย่างสมบูรณ์แบบ” ศ.ดร.สมคิด ทิ้งท้าย